ธุรกิจ Cloud Gaming หรือบริการให้เล่นเกมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ แต่ด้วยความที่มันมีหลายแพลตฟอร์ม แถมต้องเสียเงินซื้อเกมแท้มาเล่นอีก Valve จึงปิ๊งไอเดียสุดบรรเจิด “ทำไมเราไม่รวมมันเข้ากับ Steam ล่ะ”
เดี๋ยวผมขอพูดถึง Cloud Gaming อีกสักนิดหนึ่ง เผื่อใครยังไม่รู้จักนะครับ มันเป็นระบบที่ให้ผู้ใช้งานทางบ้าน สามารถเล่นเกม PC ผ่านเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีคอมสเปคแรง ๆ ก็สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์กินสเปคโหด ๆ ได้อย่างสบาย (แต่อินเทอร์เน็ตเราต้องแรงพอสมควรนะ) หรือพูดง่าย ๆ มันคือระบบที่จะสตรีมเกมจากเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ มายังจอคอมพิวเตอร์ของคุณนั่นเองครับ
ไม่ว่าจะเป็นบริการ Google Stadia หรือ NVIDIA Geforce Now ซึ่งเป็นระบบ Cloud Gaming ยอมนิยมในต่างประเทศ ต่างมีเซิร์ฟเวอร์และเครือข่ายเป็นของตัวเอง ปัญหาคือคุณจะต้องซื้อเกมตัวเต็มจาก Store ในระบบ ซื้อมาแล้วก็ไม่สามารถเล่นเกมข้ามแพลตฟอร์มได้ จึงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ลำบากอยู่เหมือนกันนะว่าจะเลือกเล่นของค่ายไหนดี
นั่นทำให้ Valve คิดไอเดียเจ๋ง ๆ ขึ้นได้ โดยแพลตฟอร์ม Steam ของตัวเอง เดิมกำลังพัฒนาระบบ Cloud Gaming ในชื่อ “Steam Cloud Play” ไว้อยู่แล้ว โดยใช้งานคู่กับโปรแกรม Steam Remote Play แต่เพื่อสร้างอาณาจักรและความง่ายในการเข้าถึง Valve จึงมองการณ์ไกล ด้วยการผนวกเอา Cloud Gaming แพลตฟอร์มอื่นเข้าไว้ใน Steam ด้วย
ทีนี้คำถามคือ เอ๊ะ !! แล้วคุณจะเล่นเกม Steam บนระบบของ Geforce Now อย่างไร ? แม้ทาง Valve จะยังไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่เนื่องจากข้อมูลที่มีการประกาศออกมานั้นมีประโยคว่า
“…enable your game to run streamed from the cloud, hosted by Valve”
จึงมีข้อสันนิษฐานอยู่ว่า สมมุติคุณได้สมัครใช้บริการของ Geforce Now และซื้อเกมบนแพลตฟอร์มไว้เรียบร้อยแล้วล่ะ แต่ไม่อยากเข้าระบบผ่านโปรแกรมของ Geforce Now โดยตรง คุณก็แค่เปิด Steam แล้วเข้าระบบ Steam Remote Play ซึ่งระบบนี้จะติดต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ NVIDIA แล้วรับภาพที่สตรีมออกมาจาก Geforce Now มาเข้าเครื่องคอม, โน้ตบุ๊ก หรือมือถือที่คุณเชื่อมต่อ Remote Play ไว้นั่นเอง
แต่นั่นล่ะครับจะเห็นว่าถ้าคุณเลือกใช้ Steam Remote Play เพื่อเล่นเกมจากเซิร์ฟเวอร์ของ Geforce Now มันจะต้องผ่านจุดเชื่อมต่อกลางทาง คือจากเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง ส่งมาที่เซิร์ฟเวอร์ Steam Cloud Play แล้วค่อยส่งมาที่จอคอม, โน้ตบุ๊ก หรือมือถืออีกทีหนึ่ง มันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Latency หรือความล่าช้าในการส่งข้อมูล เพราะไม่ได้มีการยิงตรงจากเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง ยิ่งไปกว่านั้นหากเซิร์ฟเวอร์ต้นทางมีประสิทธิภาพดี แต่เซิร์ฟเวอร์ Steam ดันเกิดปัญหา คุณก็จะไม่สามารถเล่นเกมได้อย่างราบลื่นแน่นอน
ถึงกระนั้นแนวคิดนี้ช่วยใหเกิดความง่ายในการเลือกใช้แพลตฟอร์มที่ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์ โดยคุณไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบซ้ำซ้อน เลือกติดตั้ง Steam เพียงอย่างเดียว หากเกมที่คุณซื้อบน Store ของ Geforce Now มีอยู่ในคลังของ Steam แล้ว คุณก็สามารถเล่นผ่าน Steam ได้ในทันทีครับ
ณ เวลานี้ระบบ Steam Cloud Play ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา และเปิดให้ใช้บริการได้ในบางประเทศเท่านั้น ซึ่งตรงนี้คงต้องรอให้มีการพัฒนาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพเซิร์ฟเวอร์, จำนวนเกมที่รองรับ, ความสมบูรณ์ของโปรแกรม Steam Remote Play เพื่อใช้รับภาพสตรีมจากเซิร์ฟเวอร์ (อันนี้ผมเคยใช้บอกเลยว่าใช้งานได้ง่าย แต่เชื่อมต่อให้ติดยากไปหน่อย) และสุดท้ายคือการเพิ่มระบบ Cloud Gaming อื่น ๆ เข้ามาในระบบ เพราะตอนนี้ยังมีเพียง Geforce Now ที่เข้าร่วมกับโครงการนี้ ส่วน Google Stadia ทาง Valve กำลังติดต่อขอความร่วมมืออยู่ครับ
ผมเชื่อว่าระบบ Cloud Gaming เองน่าจะเหมาะสำหรับเหล่าเกมเมอร์ในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ด้วยความง่ายในการเชื่อมต่อ ผนวกกับการเล่นเกมกินสเปคโหด ๆ โดยไม่ต้องจัดสเปคคอมเรือนแสนให้ยุ่งยาก ก็สามารถเล่นได้อย่างไม่มีปัญหา อีกทั้งยังเป็นการขยับขยายขีดจำกัดในการเล่นเกมให้ทั่วถึงในทุกระดับ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Steam ที่ผมคิดว่า PC เกือบทุกบ้านต้องมีติดตั้งไว้ครับ (อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั้ง Geforce Now และ Stadia ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศไทยนะครับ)
แต่ยังมีข้อสังเกตในเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ต ซึ่งจากที่ผมเคยทดสอบ Stadia แล้ว ปรากฏว่าตัวระบบต้องการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงพอสมควร เพื่อลดความหน่วงในระหว่างการเล่นเกม หากความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ถึงจุดที่ระบบกำหนดไว้ “จะไม่สามารถเชื่อมต่อแพลฟอร์มได้เลย”
ซึ่งจริง ๆ ผมมองว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือทาง Google อาจมองว่าถ้าอินเทอร์เน็ตช้าแล้วมันอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์มเขาด้วย ในขณะเดียวกันที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา กรณีของอินเทอร์เน็ตบนมือถืออาจมีความเร็วไม่มากพอ จึงจำกัดเฉพาะผู้ใช้งานผ่านบรอดแบนด์บน PC เพราะฉะนั้น ถ้าระบบ Cloud Gaming เริ่มเปิดใช้งานในบ้านเราแล้ว เพื่อน ๆ อาจจะต้องอัปเกรดอินเทอร์เน็ตให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่เล่นบนมือถืออาจจะต้องเลือกการเชื่อมต่อระบบผ่าน Wi-Fi จากอินเทอร์เน็ตบ้านแทนนั่นเองครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pcgamesn.com/steam/cloud-play